รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย
|
วันที่ 14 กันยายน 2566 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ว่ามีหลักในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาใน 2 ประเด็นใหญ่ ให้กับผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไปได้รับทราบผ่านการประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และถ่ายทอดสด Facebook Live โดยมีจุดเน้นที่สำคัญคือ การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง จุดเน้นดังกล่าว ได้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับกับนโยบาย 5 คานงัดการขับเคลื่อนการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ได้ดำเนินการอยู่โดยเฉพาะเรื่องของการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เน้นการประเมินตามสภาพจริง ลดการทำเอกสาร ลดขั้นตอนการประเมินต้องไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน เน้นที่ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนตามช่วงวัยเป็นสำคัญ และคำนึงถึงสภาพบริบทของสถานศึกษาการปรับระบบการประเมินเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนให้สอดคล้องกับการประเมินวิทยฐานะเพื่อลดความซ้ำซ้อนและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประเมินวิทยฐานะ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการดำเนินการบรรจุ แต่งตั้ง และโยกย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรม ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง เพื่อให้ทุกโรงเรียนได้มีบุคลากรซึ่งเป็นคนในพื้นที่เข้ามาทำการสอนได้ครบชั้นและครูมีความสุขกับการสอน รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการใช้เงินและการเก็บออม ในส่วนของการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครองนั้น ต้องการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา เรียนฟรีมีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ นโยบายด้านการศึกษาในภาพรวมที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภานั้น ประกอบด้วย
1. ปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ
2. เสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างอนาคตสร้างรายได้กระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่
3. จัดทำหลักสูตรและให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับความรู้ความสนใจของผู้เรียน
4. ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) และการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
5. การศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศและการปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติเพื่อให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกสมัยใหม่อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม
6. ความมีคุณภาพของครูทั้งประเทศ รวมไปถึงครูแนะแนว เพื่อช่วยให้นักเรียนได้รับคำแนะนำด้านเนื้อหาของวิชาการและการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกเรียนและประกอบอาชีพ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของนักเรียนทุกคน
7. ส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่นักเรียน นักศึกษาทั้งสายวิชาการและสายอาชีพให้มีรายได้จากวิชาที่เรียน โอกาสฝึกงานระหว่างเรียนเพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถตรงต่อความต้องการของการจ้างงาน
8. แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ.
|
โพสเมื่อ :
04 ก.ค. 2567,11:34
อ่าน 30 ครั้ง
|